ธอส. เตรียม 10,000 ล้านบาท เปิดตัวสินเชื่อบ้าน New Home ดบ.ต่ำ 6 เดือนแรก1.99%ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 2.97%

ธอส.รักษาพอร์ตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย พร้อมเพิ่มทางเลือกคนอยากมีบ้าน เตรียมวงเงิน 10,000 ล้านบาท เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อบ้าน New Home” ให้กู้เพื่อซื้อบ้านหรือห้องชุดมือ 1 ราคาตั้งแต่ 1.5 ล้านบาท ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 1.99% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เพียง 2.97% กู้ 1.5 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดเริ่มต้นเพียง 5,200 บาทต่อเดือน พิเศษ!! ฟรี ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม ยื่นคำขอกู้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยในระดับราคาตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2.5 ล้านบาท สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงในชีวิตของตนเองและครอบครัว ภายใต้แนวคิด “Be Simple, Make it Simple” ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงได้เตรียมวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท จัดทำผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด สินเชื่อบ้าน New Home

โดยอัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี เดือนที่ 7-12 เท่ากับ 2.80% ต่อปี
ปีที่ 2 เท่ากับ MRR-3.15% (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารเท่ากับ 6.150%)
ปีที่ 3 เท่ากับ MRR-2.65% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 2.97% เท่านั้น

และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% และกรณีลูกค้ารายย่อย อัตราดอกเบี้ย MRR – 0.50% ให้กู้เพื่อซื้อบ้าน หรือห้องชุด (บ้านหรือห้องชุดมือ 1 เท่านั้น) ระดับราคาตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2.5 ล้านบาท ผ่อนชำระได้นานสูงสุดนาน 40 ปี

กรณีกู้ 1.5 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดเริ่มต้นเพียง 5,200 บาทต่อเดือน ตัดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย พิเศษ!! ฟรี ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม ยื่นคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ สินเชื่อบ้าน New Home เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สินเชื่อกลุ่ม Business Solution สำหรับลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งปัจจุบัน ธอส. มีสัดส่วนสินเชื่อในระดับวงเงิน 1.5-2.5 ล้านบาท มากที่สุด โดยคิดเป็น 42% ของวงเงินนิติกรรมของธนาคาร และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่าสินเชื่อบ้าน New Home จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ที่ต้องการมีบ้านในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และ http://www.ghbank.co.th

กำลังซื้อไม่ตก!’ออริจิ้น’เผยไตรมาสแรกยอดขายพุ่ง7,500ล.ชู“ไนท์บริดจ์-ดิ ออริจิ้น”ไฟท์ติ้งแบรนด์โกยยอด


“ออริจิ้น” กวาดยอดขายไตรมาสแรก 7,500 ล้าน คิดเป็น 26% ของเป้ายอดขายทั้งปี ระบุกลุ่มโครงการ Ready to move ใกล้รถไฟฟ้าแกร่ง ชู “ไนท์บริดจ์” และ “ดิ ออริจิ้น” ไฟท์ติ้งแบรนด์ปั้นยอดขายต่อเนื่อง เชื่อสถานการณ์อสังหาฯ 64 ดีขึ้นเป็นลำดับ หลังรัฐทยอยฉีดวัคซีนและต่ออายุลดค่าธรรมเนียมการโอน-ค่าจดจำนอง คาดโครงการในเครือจ่อรับอานิสงส์มาตรการกว่า 11,000 ล้านบาท เล็งส่ง “แฮมป์ตัน” และอีก 3 แบรนด์คอนโดเปิดตลาดใหม่ มั่นใจยอดขายปีนี้ทะลุ 29,000 ล้านบาท

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า ในไตรมาส 1/64 (ม.ค.-มี.ค.) บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้แล้ว 7,500 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของเป้าหมายยอดขาย 29,000 ล้านบาทในปีนี้  โดยยอดขายดังกล่าวแบ่งเป็นยอดขายจากกลุ่มคอนโดมิเนียมประมาณ 73% และยอดขายจากกลุ่มบ้านจัดสรร ประมาณ 27% ซึ่งถือเป็นผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจ ในสภาวะที่ตลาดช่วงต้นไตรมาสได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ระลอกใหม่ช่วงปลาย ธ.ค.ปีที่ผ่านมา

โดยยอดขายดังกล่าว มาจากกลุ่มโครงการพร้อมอยู่ประมาณ 69% และยอดขายจากกลุ่มโครงการที่เพิ่งเปิดขายหรืออยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างกว่า 31%โดยไฟท์ติ้งแบรนด์ที่ช่วยให้ยอดขายในไตรมาส 1/64 ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม คือแบรนด์ไนท์บริดจ์ ที่เจาะตลาดระดับไฮเอนด์ และแบรนด์ดิ ออริจิ้น ที่เจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

โดยทั้ง 2 แบรนด์มีจุดแข็งคือการกระจายตัวอยู่ใกล้รถไฟฟ้าหลากหลายทำเล มีฟังก์ชั่นภายในห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางที่ตอบโจทย์การ Work From Home และการใช้ชีวิตแบบ Next Normal ในอนาคต มีระดับราคาที่ผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงได้ในสภาวะปัจจุบัน

สำหรับตลาดอสังหาฯหลังจากนี้ มีแนวโน้มเปลี่ยน แปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีปัจจัยบวกหลายด้านที่ทยอยเกิดขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค อาทิ โอกาสการกลับมาเปิดประเทศจากเรื่องวัคซีนวีซ่า การทยอยฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้แก่บุคคลกลุ่มต่าง ๆ การต่ออายุมาตรการลดภาษีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง โดยบริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ และโครงการที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียม ประมาณ 8,500 ล้านบาท และกลุ่มบ้านจัดสรรแบรนด์ไบรตันอีกประมาณ 2,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มโครงการเปิดตัวใหม่นั้น จะเปิดตัวเพิ่มเติมในไตรมาส 2/64 อีก 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 4,200 ล้านบาท ได้แก่ แกรนด์ บริทาเนีย บางนา กม.12 แกรนด์ บริทาเนีย ราชพฤกษ์-พระราม 5 รวมถึงแบรนด์ใหม่อย่าง “แฮมป์ตัน” (Hampton) แบรนด์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment Property) โครงการแรกของบริษัท ที่ร่วมทุนกับกลุ่มดุสิตธานี นำร่องในทำเลศรีราชาภายใต้ชื่อ แฮมป์ตัน ศรีราชา

“ปัจจัยบวกเชิงมหภาคก็ดี ปัจจัยบวกจากการปรับตัวขององค์กรก็ดี ที่ผ่านมา ออริจิ้นมี Key Success คือ เราปรับตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง มองหาตลาดใหม่ๆ ที่มีความต้องการและมีโอกาสเติบโตอยู่เสมอ กลางปี 62 เราเปิดตัวแบรนด์ดิ ออริจิ้น เจาะตลาดกลุ่ม Gen Z ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายไหนเข้าไปลุย ปัจจุบันปิดการขายไปแล้วหลายโครงการ ปลายปี 63 เราเปิดตัวแบรนด์โซโห แบงค็อก โครงการแรก ขยายฐานลูกค้าใหม่ในตลาดไฮเอนด์ ปัจจุบันมียอดขายสะสมกว่า 75% ปีนี้ตามแผน ORIGIN NEXT LEVEL เรามีแบรนด์คอนโดฯใหม่ที่จะใช้บุกตลาดศักยภาพใหม่ๆ เพิ่มเติมถึง 4 แบรนด์ เมื่อประกอบกับยอดขายจาก New S Curve ของเครืออย่างธุรกิจบ้านจัดสรร สถานการณ์เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เราเชื่อมั่นว่าปีนี้จะสามารถสร้างยอดขายเป็น All Time High ที่ 29,000 ล้านบาทตามเป้า”.

#ออริจิ้น#โควิด#คอนโดฯ #หนี้ครัวเรือน

เปิดประเทศ-ปัญหาการเมือง ชี้ชะตาตลาดคอนโดกรุงเทพฯ “ไนท์แฟรงค์”คาดตลาดฟื้นตัวครึ่งหลังปี65 จีนสนใจอสังหาฯไทย

นายณัฎฐา คหาปนะ รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้า สำนักงานไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าถึงแม้ว่าช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จะมีสัญญาณที่เริ่มฟื้นตัว แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้กำลังซื้อในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ลดลงอีกครั้ง ทำให้ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมทั้งปี 2563 อยู่ในภาวะที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ซื้อชะลอการซื้อ-ขายและใช้เวลาในการตัดสินใจมากขึ้น เนื่องจากความกังวลในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้ง กำลังซื้อที่เป็นชาวต่างชาติ ยังไม่กลับมา เนื่องจากการแพร่ระบาดในยุโรปยังคงมีความรุนแรง และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และประเทศไทยยังจำกัดการเดินทาง ให้ต่างชาติเข้ามายังประเทศได้แค่เพียงบางกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการยังต้องหวังพึ่งพากำลังซื้อจากกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทย ที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักในช่วงนี้ คือ กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน หรือถูกลดเงินเดือน ส่งผลให้เกิดการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะเนื่องจากธนาคารมีความกังวลในรายได้ของผู้กู้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นผลทำให้กำลังซื้อถดถอย อีกทั้ง กำลังซื้อที่เป็นกลุ่มชาวต่างชาติได้หายไปจากตลาด โดยพบว่าหน่วยเหลือขายของโควต้าต่างชาติ ยังคงมีเหลืออยู่เกินครึ่งของจำนวนโควต้าทั้งหมด (เพดานต่างชาติซื้อห้องชุดต่อโครงการในสัดส่วน 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมด) ส่งผลให้หน่วยเหลือขายยังคงเหลืออยู่มาก และทำให้คอนโดมีภาวะล้นตลาดในบางทำเล

ทั้งนี้ ส่งผลให้บางโครงการต้องหยุดการขายและเลื่อนการเปิดโครงการ ผู้ประกอบการจึงพยายามลดจำนวนการเปิดขายโครงการใหม่ และคาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายหน่วยเหลือขายถึง 1-2 ปี เพื่อให้ตลาดอยู่ในภาวะที่สมดุล

ไตรมาส4 ปี 63 คอนโดฯเปิดขายใหม่ลดฮวบร้อยละ 77.8

จากผลวิจัยของบริษัทไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 อุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ปรับตัวลดลง โดยมีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ทั้งสิ้น 4,196 หน่วย จำนวนหน่วยเปิดขายใหม่ลดลงในอัตราร้อยละ 77.8 หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 มีจำนวนอยู่ที่ 18,926 หน่วย อย่างไรก็ดี จำนวนหน่วยเปิดขายใหม่ของไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ 47.2 หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 อยู่ที่ 7,943 หน่วย

คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมระดับเกรดซี ที่มีระดับราคาขายส่วนใหญ่อยู่ที่ 40,000 – 75,000 บาทต่อตารางเมตร(ตร.ม.) คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 65 รองลงมาได้แก่คอนโดมิเนียมระดับเกรดบี ที่มีระดับราคาขายอยู่ระหว่าง 85,000 – 120,000 บาทต่อตร.ม. คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 35 โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ไม่พบคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในระดับเกรดเอที่มีระดับขายสูงกว่า 150,000 บาทต่อตร.ม.

หากพิจารณาในแง่สถานที่ตั้ง พบว่าคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ ส่วนใหญ่มีสถานที่ตั้งอยู่บริเวณชาน เมืองกรุงเทพฯ คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 95 รองลงมาได้แก่คอนโดมิเนียมที่มีสถานที่ตั้งอยู่บริเวณรอบเขตศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe) คิดเป็นอัตราส่วนเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น ในส่วนของบริเวณศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ไม่พบคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ ณ ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563

ราคาขายคอนโดฯลดลงกว่าร้อยละ15

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ภาพรวมตลาดชะลอตัวลดลงจากช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่อยู่ที่ 1,391 หน่วย จากอุปทานที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 4,196 หน่วย คิดเป็นอัตราการขายที่ร้อยละ 33 อัตราการขายลดลงในอัตราร้อยละ 17 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกัน ณ ปีก่อนหน้า หรือ อัตราการขายลดลงในอัตราร้อยละ 6 หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราการขายคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 อยู่ในอัตราร้อยละ 39

ระดับราคาเสนอขายของคอนโดมิเนียมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ปรับตัวลดลงในทุกพื้นที่ จากไตรมาสที่ 3 ปี 2563

ราคาขายคอนโดมิเนียม ในบริเวณศูนย์กลางธุรกิจ ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ 251,435 บาท ต่อตร.ม. ปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ 5 (เทียบไตรมาสที่แล้ว) ซึ่งราคาเสนอขายคอนโดมิเนียมในบริเวณศูนย์กลางธุรกิจ ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีราคาเสนอขายอยู่ที่ 265,000 บาท ต่อตร.ม.

ราคาขายคอนโดมิเนียม ในบริเวณรอบเขตศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe) ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ 123,560 บาท ต่อตร.ม. ปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ซึ่งราคาเสนอขายคอนโดมิเนียมในบริเวณรอบเขตศูนย์กลางธุรกิจ ณ ไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2563 มีราคาเสนอขายอยู่ที่ 146,000 บาท ต่อตร.ม.

ราคาเสนอขายของคอนโดมิเนียม ในบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ 68,945 บาท ต่อตร.ม.ปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ 13.2 หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งราคาเสนอขายคอนโดมิเนียมในบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ณ ไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2563 มีราคาเสนอขายอยู่ที่ 79,400 บาท ต่อตร.ม. ราคาเสนอขายคอนโดมิเนียมในไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563 ระดับราคาขายปรับตัวลดลง อันเนื่องมาจากผู้ประกอบการเร่งการขายห้องที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่งบการเงินและเพิ่มสภาพคล่องของงบการเงิน จึงนำโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่มาลดราคา และจัดโปรโมชั่นเพื่อเร่งยอดขายและยอดโอน ด้วยราคาขายที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดผู้ซื้อประเภทนักลงทุนรวมถึงประเภทผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงได้ โดยบางโครงการก็สามารถปิดการขายได้ เนื่องจากการลดราคาขายต่ำกว่าโครงการอื่นที่อยู่ในทำเลเดียวกัน อีกทั้งโครงการที่เปิดตัวใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มีราคาขายเปิดตัวที่ต่ำลง โดยภาพรวมถือว่าตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงนี้เป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างแท้จริง

นายณัฎฐากล่าวว่า แนวโน้มคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 หน่วยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยหน่วยเปิดขายใหม่จะเป็นคอนโดมิเนียมที่มีระดับราคาขายที่เน้นขายผู้ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) อีกทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายรายหันไปพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้นเพราะความเสี่ยงน้อย สามารถทยอยพัฒนาได้ ตลาดคอนโดมิเนียมอาจมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงกลางปี 2565 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงที่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ได้

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีของนักลงทุนชาวจีน ที่พยายามติดต่อซื้อคอนโดมิเนียม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือลงทุนในอนาคต แม้จะยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ โดยใช้วิธีติดต่อผ่านสถานฑูตและโบรกเกอร์ในประเทศจีน เนื่องจากจีนมองว่าประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าอยู่และปลอดภัย หากเกิดสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ตามตลาดยังคงต้องรอกำลังซื้อฟื้นตัวอีกสักระยะ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ จะทำให้กำลังซื้อของต่างชาติกลับมา และมีการกลับมาจ้างงานเพิ่มขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจ แต่หากเกิดปัญหาวิกฤตทางการเมือง โอกาสที่จะฟื้นตัวอาจจะตรงกันข้าม และในความท้าทายของตลาดเช่นนี้ผู้ประกอบการต้องเตรียมแผนป้องกันและปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต.